เฉลยคำถามท้ายบทที่ 10 พฤติกรรมของสัตว์

 

 

 

 2. จงสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ต่อไปนี้ และเขียนอธิบาย

        2.1 การชักใยของแมงมุมต่างชนิดกัน

          แนวคำตอบ
แมงมุม จะมีอวัยวะสำหรับสร้างใยที่เรียกว่า สปินเนอร์เร็ท (Spinnerets) ทั้งหมด 7 คู่ อยู่ที่บริเวณกลางหรือส่วนท้ายของลำตัว และอวัยวะสำหรับสร้างใยแต่ละคู่ ก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน ทำหน้าที่สร้างใยที่มีลักษณะแตกต่างกัน เพื่อนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ ที่แตกต่างกัน เช่นสร้างใยที่มีลักษณะเบาบางทำให้สามารถลอยตัวกลางอากาศ เพื่ออพยพหาแหล่งที่อยู่ใหม่ เป็นประโยชน์ต่อการแพร่ กระจายพันธุ์ ของแมงมุม โดยเมื่อแมงมุมฟักตัวออกจากไข่ก็จะสร้างใยชนิดนี้ขึ้นมาทำให้สามารถลอยตัวกลางอากาศไปได้ไกลๆ สร้างใยที่มีลักษณะเหนียวใช้สำหรับจับเหยื่อที่ผ่านเข้ามา เพื่อเป็นอาหาร สร้างใยสำหรับใช้ห่อหุ้มเหยื่อทำให้เหยื่อไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ สร้างใยสำหรับห่อหุ้มถุงไข่ สร้างใยสำหรับเป็นเส้นทางการเดินทางของแมงมุม สร้างใยสำหรับใช้เป็นตัวส่งสัญญาณ บอกแรงสั่นสะเทือนเมื่อมีเหยื่อเข้ามาติดที่ใย เป็นต้น


        2.2 การสื่อสารด้วยท่าทางของสัตว์บางชนิด เช่น แมว

           แนวคำตอบ
          การแสดงพฤติกรรมของแมว ด้วยการนำส่วนต่างๆของลำตัวไปถูกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณประตู เก้าอี้ โซฟา หรือแม้แต่ตัวเจ้าของแมว เป็นพฤติกรรมที่แมวใช้ในการแสดงอาณาเขต และแสดงความเป็นเจ้าของ เนื่องจากแมวจะมีต่อมสร้างกลิ่นอยู่ตลอดความยาวของหาง โคนหางด้านข้างของส่วนหัว บริเวณริมฝีปาก คาง บริเวณใกล้อวัยวะเพศ และอุ้งเท้าด้านหน้าซึ่งเห็นได้ชัดจากรอยสีเทาดำมีลักษณะเป็นคราบมันที่เกิดขึ้นจากการนำส่วนต่างๆของลำตัวแมวมาถูไว้
          การแสดงท่าท่างของแมว ด้วยการเข้ามาดมตามตัวแมวตัวอื่น หรือ ดมตามตัวคนที่อยู่ในบ้าน เป็นการสำรวจ และดมกลิ่นเพื่อดูว่า เป็นสมาชิกของบ้านที่อาศัยหรือไม่ และการเดินยกหัวเข้ามาใกล้แล้วนำเอาหัวมาถูตามลำตัวเป็นลักษณะของแมวที่เป็นมิตร มีความมั่นใจในตัวเอง แล้วแสดงความสนใจต่อ สิ่งที่เข้ามาใกล้ การเอาหัวมาถูตามตัวนอกจากจะอาศัยดมกลิ่นแล้วยังนำเอากลิ่นที่สร้างจากต่อมตามลำตัวมาแสดงอาณาเขตหรือ ความเป็นเจ้าของด้วย ส่วนแมวที่อารมณ์ไม่ดีแล้วไม่อยากให้ใครเข้ามาใกล้จะเดินแล้วกดหัวต่ำลงและหลบตา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันไม่มีความสนใจ ใยดี อยากเข้ามาเล่นหรืออยู่ใกล้ด้วย
          การสื่อสารของแมวโดยใช้หาง จะมีลักษณะที่คล้ายกับการสื่อสารของสุนัขที่ใช้หาง เช่น แมวจะกระดิกหางแกว่งไปมาเมื่อดีใจที่ได้พบเจ้าของ และแมวที่ยกหางตั้งฉากกับลำตัวจะเป็นแมวที่แสดงความเป็นมิตรอย่างเปิดเผย แต่ถ้ายังมีอาการของความไม่แน่ใจเกิดขึ้นจะงอปลายหางที่ชี้ตั้งขึ้นไปทางส่วนท้ายของลำตัวเล็กน้อย การนั่งสะบัดหางไปมาของแมวแสดงให้เห็นว่ามันกำลัง ตื่นตัวหรือแสดงความสนใจ กับอะไรบางอย่าง แต่ถ้าแกว่งหางลากไปกับพื้นไปมาจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าถูกรบกวน รำคาญ โกรธ หรือตื่นเต้นก็ได้ ต้องอาศัยการดูพฤติกรรมการแสดงออกอื่นๆ ประกอบด้วย ส่วนแมวที่เดินหางตกมา เป็นแมวที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เป็นมิตร

 

 

 


        2.3 พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของไก่หรือนก

          แนวคำตอบ
การแสดงพฤติกรรม การเกี้ยวพาราสีของนก โดยทั่วไปจะอาศัย ประสาทสัมผัสหลายๆ ส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงพฤติกรรม สำหรับกลุ่มนกร้องเพลง (Songbirds) จะมีการพัฒนาระบบประสาท เกี่ยวกับการ ร้องและฟังได้ดี และใช้เสียงร้องในการหาคู่ หรือเกี้ยวพาราสีกัน สำหรับนกในกลุ่มที่ชอบอาศัยเดินบนพื้นดิน และส่วนใหญ่จะบินไม่ได้ (gallinaceous dird) ระบบประสาทของการมองเห็น จะเจริญและพัฒนาได้ดี และจะแสดงพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี โดยใช่ส่วนต่างๆของร่างกาย และสีขน เช่น การขยับปีกเป็นจังหวะ การกางปีกเพื่อแสดงสีขน ที่ทำให้เพศเมียเห็นถึง ความพร้อมและความสมบูรณ์ ของร่างกายในการผสมพันธุ์ หรือการแสดงส่วนต่างๆ ของร่างกายที่มีสีสันสดใส เพื่อกระตุ้นให้นกเพศเมีย สนใจ เช่น สีของหงอน สีของขนหาง สีของปาก สีของผิวหนังบริเวณส่วนหัว หรือการทำท่าทางต่างๆ เช่น สีของหงอน สีของขนหาง สีของปาก สีของผิวหนังบริเวณส่วนหัว หรือการทำท่าทางต่างๆ ตามแต่ชนิดของนก ตัวอย่างที่คุ้นเคย คือ การรำแพนหางของนกยูง การเกี้ยวพาราสีของไก่บ้าน ด้วยการวิ่งวน และกระพือปีกไปมารอบๆไก่เพศเมีย


 

 

 

หน้าหลัก .....<<<< ก่อนหน้า....ถัดไป >>>>

 


อ้างอิงจาก :
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. คู่มือครูรายวิชาชีววิทยาเพิ่มเติม เล่ม 2.กรุงเทพ:สกสค.2554.